กรณี แจส โมบาย บรอดแบนด์ ไม่ยอมจ่ายค่าสัมปทานคลื่นความถี่ 900 MHz ในการให้บริการ 4G ซึ่งทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ว่า
กสทช. เป็นแค่เสือกระดาษ เพราะหากมองในข้อกฎหมาย
กสทช.แทบจะทำอะไรแจสโมบายไม่ได้เนื่องจากในประกาศของ กสทช. เองค่อนข้างหลวม โดยหากพิจารณาจากประกาศของ
กสทช. เรื่องการประมูลคลื่น 900 MHz เพื่อให้บริการ 4G ในข้อ 6. วรรคท้ายของประกาศ กสทช. และข้อ 5 วรรค 2 ของแบบ
"หนังสือยินยอมของผู้ขอรับใบอนุญาต" แนบท้ายของประกาศ กสทช.
ระบุไว้แต่เพียงว่า
"ในกรณีที่ผู้ชนะการประมูลไม่ดำเนินการตามเงื่อนไขก่อนรับใบอนุญาตให้ถูกต้องและครบถ้วนภายในระยะเวลาที่กำหนด
ให้ถือว่าผู้ชนะการประมูลนั้นสละสิทธิ์ที่จะได้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 900
MHz ตามประกาศ
กสทช. และคณะกรรมการสงวน สิทธิ์ที่จะริบหลักประกันการประมูล"
และเหตุดังกล่าวนี้ก็ไม่ได้เป็นเหตุเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมอื่นๆ
ที่กลุ่มบริษัทได้รับจากสำนักงาน กสทช. และใช้ประกอบกิจการอยู่ในปัจจุบัน
รวมทั้งการดำเนินธุรกิจของกลุ่มบริษัทยังสามารถดำเนินการได้โดยไม่ได้รับผลกระทบใดๆ
ทั้งสิ้น ซึ่งหากมองในแง่ผลกระทบแต่เอกชนแล้วจะเห็นว่า เงินค่าปรับ 644 ล้านบาท เป็นแค่ 1.27% ของสินทรัพย์ซึ่งเมื่อจัสมิน คอร์ปฯ
แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ อย่างเป็นทางการแล้วตลาดหลักทรัพย์ก็ปลดป้าย “ห้ามซื้อ-ขาย” (SP) ให้แจสโดยง่ายดาย
เรื่องการนำคลื่น 900MHz กลับมาประมูลใหม่
ซึ่งตามระเบียบ กสทช. จะต้องจัดการเปิดประมูลใหม่ใน 4
เดือนหากผู้ชนะการประมูลสละสิทธิ์ (กรณีแจสโมบายไม่มาจ่ายค่าไลน์เซนต์ คือ สละสิทธิ์โดยอัตโนมัติไม่ใช่การถูกบอกเลิกสัมปทาน)
คำถามคือแล้วประมูลใหม่มันจะมีปัญหาอะไร มีปัญหาแน่ๆ โดยเรื่องใหญ่ๆ มี 2
เรื่องที่ กสทช. “ติดหล่ม” ตัวเองคือ
1. ไม่ได้ราคาเท่าเดิม
เพราะคุณภาพของคลื่น 900 MHz ล็อตแรกที่แจสโมบายได้ไปด้อยกว่าล็อตสอง
ที่ทรูประมูลได้ อธิบายง่ายๆ คือ คลื่น 900MHz ทั้ง
2 ล็อตมีความกว้างประมาณ 10 MHz ต่อคลื่น
คลื่นล็อตแรกติดปัญหาต้องทำ Guard Band คือเว้นช่องว่างไว้ 2.5 MHz เพื่อกันไม่ให้เกิดการรบกวนจากคลื่นที่อยู่ติดกัน
ทำให้ใช้จริงได้แค่ 7.5 MHz ส่วนทรูไม่ติดปัญหานี้ใช้ได้เต็ม 10
MHz ด้วยราคาประมูลที่ 40,000 กว่าล้านบาทเหมือนกัน
ทรูกลับได้ประโยชน์มากกว่า ซึ่งนี่เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่นักวิเคราะห์หลายคนมองว่าการประมูลคลื่น
900 MHz ของแจสโมบาย แพงเกินไป
และอาจเป็นอีกเหตุผลที่ทำให้ แจสโมบาย กลับลำไม่ทำ 4G ต่อ
และยอมเสียค่าปรับดีกว่าต้องลงทุนอีกมากมายในอนาคต
ฉะนั้นจึงเป็นไปได้ยากหากจะเปิดประมูลด้วยราคาเริ่มต้นที่ราคาเดิมคือ
40,000 กว่าล้านบาทในขณะเดียวกัน กสทช.
เองก็คงไม่อยากจะเปิดประมูลด้วยราคาที่ต่ำกว่าเดิม ตามหลักการที่จะต้องรักษา “กฎการแข่งขันที่เท่าเทียม”
เพราะกสทช. มีหน้าที่ในการควบคุมต้นทุนของเอกชน
หากรายใดรายหนึ่งมีต้นทุนบริการที่ถูกกว่า (ประมูลคลื่นในราคาถูกกว่า)
ก็จะมีปัญหาร้องเรียนตามมา รวมทั้งอาจถูกมองว่าเอื้อประโยชน์ต่อรายหนึ่งรายใดได้
และแม้ว่าจะเปิดประมูลใหม่ ก็ไม่แน่ว่า 2 รายที่ “อกหัก”ไปอย่าง
เอไอเอส กับดีแทค จะเข้าร่วมประมูลหากราคายังแพงเกินไป ส่วนทรู
อาจไม่เข้าร่วมเพราะมีคลื่นมากพออยู่แล้ว
2. “ดอง”คลื่นไว้ก็จบไม่สวย
กรณีที่การประมูลไม่มีใครสนใจเข้าร่วม กสทช.สามารถเก็บคลื่นนี้ ไว้ได้ 1 ปี
แล้วจึงนำกลับมาประมูลใหม่ได้ หากมองเผินๆ นี่เป็นทางออกที่ดีที่สุดในการซื้อเวลาของ
กสทช. แต่อย่าลืมข้อเท็จจริงที่ว่า กสทช.ชุดนี้เหลืออายุแค่ปีกว่า
หากไม่สามารถเปิดประมูลคลื่น 900 MHz รอบใหม่ได้ เรียกว่าหมดสิทธิ์ “แก้ตัว”
ในความล้มเหลวคราวนี้ และท่านก็จะเดินลงจากตำแหน่งแบบมีข้อกังขา ว่า “ลอยตัว
หนีปัญหา หรือเปล่า”