นับตั้งแต่ต้นปี 2557 ที่ผ่านมา
บมจ.สามัคคีประกันภัย เป็นอีกหนึ่งบริษัทประกันภัยไทย
ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง เริ่มตั้งแต่ เอซ ไอเอ็นเอ อินเตอร์เนชั่นแนล
โฮลดิ้ง จำกัด หรือเอซ กรุ๊ป (ACE Group) ได้เข้ามาซื้อหุ้นจากธนาคารไทยพาณิชย์
ส่งผลให้มีหุ้นในมือสัดส่วนประมาณ 94% และล่าสุดเมื่อเดือนมกราคม
2559 ที่ผ่านมา เอซ กรุ๊ป ได้เข้าซื้อ Chubb
Corporation บริษัทประกันภัยทรัพย์สินเชิงพาณิชย์และประกันภัยเบ็ดเตล็ดยักษ์ใหญ่ของสหรัฐ
อเมริกา พร้อมกับประกาศใช้แบรนด์ “CHUBB” เหมือนกันทั่วโลก
นิตยา พิริยะธรรมวงศ์ กรรมการผู้จัดการ บมจ.สามัคคีประกันภัย บอกถึงทิศทางการดำเนินธุรกิจของสามัคคีประกันภัยภายหลังจากนี้
ว่า ภายหลังจากเอซ และชับบ์
ควบรวมกันเรียบร้อย จะส่งผลให้ในประเทศไทยมีบริษัทลูก 3 บริษัท ประกอบด้วย บริษัท
เอซไอเอ็นเอ โอเวอร์ซี และ
บมจ.สามัคคีประกันภัย และบริษัทประกันชีวิต 1 บริษัท คือ เอซ ไลฟ์ ซึ่งในอนาคตทั้ง 3
บริษัทจะเปลี่ยนชื่อไปใช้แบรนด์ CHUBB ทั้งหมด
ส่วนในอนาคต
ในฝั่งธุรกิจประกันวินาศภัย ซึ่งมีอยู่ 2 บริษัท
จะทำการควบรวมเป็นบริษัทเดียวกันหรือไม่นั้น คงต้องรอความชัดเจนจากบริษัทแม่ แต่อย่างไรก็ดี
ค่อนข้างชัดเจนแล้วว่า บมจ.สามัคคีประกันภัย
จะนำบริษัทออกจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยแน่นอน เนื่องจากบริษัทแม่มองว่า
ชับบ์ ได้จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์คอยู่แล้ว
ในขณะเดียวกันในแง่ของเงินทุน ทางบริษัทฯแม่ก็มีความแข็งแกร่ง
จึงไม่มีความจำเป็นจะต้องระดมเงินผ่านตลาดหลักทรัพย์ในประเทศไทย
ซึ่งจะเป็นไปในทิศทางเดียวกันทั่วโลก ดังนั้น ทางบริษัทแม่จึงเห็นสมควรให้บริษัทสามัคคีประกันภัยออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯ
ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการขอออกจากตลาดหลักทรัพย์
พร้อมกับทำการเสนอขอซื้อหุ้นคืนจากผู้ถือหุ้นรายย่อย
หลังจากได้แจ้งให้ผู้ถือหุ้นรายย่อยไปเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา
ในขณะที่ความคาดหวังในแง่ของความเติบโตนั้น
นิตยา บอกว่า ในส่วนของการขยายธุรกิจ
ทางบริษัทฯแม่ต้องการให้ทั้งสองบริษัทฯด้านการประกันวินาศภัยในไทย
ผนึกกำลังร่วมกันเพื่อขายธุรกิจให้มีการเติบโตอย่างแข็งแกร่ง
โดยมีเป้าหมายขึ้นไปอยู่ในท็อป 5 ให้ได้ ภายในระยะเวลาไม่นานหลังจากนี้
ซึ่งในปัจจุบันสามัคคีประกันภัยอยู่ในอันดับ 11 และชับบ์ อยู่อันดับ 13
โดยมีมาร์เก็ตแชร์รวมกันอยู่ที่ประมาณ 5%
“หากมองในแง่ของความเติบโต
แน่นอนว่าเราต้องเติบโตให้ได้อยู่แล้ว โดยเป้าหมายคือการเติบโตมากกว่าอุตสาหกรรม
ซึ่งอุตสาหกรรมมองว่า ปีนี้น่าจะโตได้ประมาณ 5-7% เพราะปัจจุบันเราไม่ได้เป็นบริษัทเดียว
แต่ยังมีบริษัทอื่นๆ ในเอเชียแปซิฟิค 10 ประเทศ โดยนโยบายก็จะเป็นนโยบายรายภูมิภาค
อย่างไรก็ดี ไม่ว่าตลาดรวมจะเป็นอย่างไร เป้าหมายอันดับแรกของสามัคคีประกันภัย
ภายใต้ชับบ์กรุ๊ป จะต้องเติบโตมากกว่าตลาดแน่นอน ปีที่แล้วเราก็โต 6% ซึ่งก็สูงกว่าตลาดประกันวินาศภัยโดยรวม”
ส่วนผลการดำเนินงานในปี
2558 ที่ผ่านมา นิตยา บอกว่า
ในด้านผลิตภัณฑ์หลักอย่างประกันอุบัติเหตุและประกันสุขภาพสามารถเติบโตได้ตามเป้าหมาย
ขณะที่ประกันรถยนต์มีอัตราการเติบโตติดลบ ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับภาพรวมในตลาดประกันวินาศภัย ประกอบกับบริษัทฯไม่มีนโยบายแข่งขันด้านราคา
และเน้นกำไรจากการรับประกันภัย ซึ่งประกันภัยรถยนต์คาดหวังกำไรไม่ได้
จึงคงสัดส่วนประกันภัยรถยนต์ไว้ที่ประมาณ 25-30%
ซึ่งหากเทียบกับบริษัทประกันภัยอื่นที่ขายประกันรถยนต์ผ่านช่องทางแบงก์แอสชัวรันส์ส่วนใหญ่จะมีพอร์ตประกันรถยนต์สูงถึง
50-60%
โดยผลการดำเนินงานปี
2558 บริษัทฯมีกำไรสุทธิ 850 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน ซึ่งมีกำไรสุทธิ 894
ล้านบาท
โดยมีเบี้ยประกันภัยที่ถือเป็นรายได้สุทธิ 4,538 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8% มีค่าใช้จ่ายในการรับประกันภัยรวม
3,903 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11% มีกำไรจากการรับประกันภัยรวม 788 ล้านบาท ลดลง 6%
เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่เพิ่มสูงขึ้นจากการลงทุนพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านสารสนเทศ
และปรับปรุงกระบวนการทำงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ ขณะที่ด้านการลงทุน มีรายได้จากการลงทุนจำนวน
264 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนเล็กน้อย
ทั้งนี้
หากมองถึงความแข็งแกร่งภายหลังจากการควบรวมดังกล่าว
การที่บริษัทแม่เลือกใช้แบรนด์ CHUBB ทั่วโลก เพราะมองว่า
ชับบ์เป็นบริษัทประกันภัยทรัพย์สินและประกันภัยเบ็ดเตล็ด ที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์รายใหญ่ที่สุดในโลก
CHUBB ดำเนินธุรกิจใน 54 ประเทศ
ให้บริการด้านการประกันภัยทรัพย์สินและการประกันภัยเบ็ดเตล็ด
ประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล ประกันสุขภาพ ตลอดจนให้บริการประกันภัยต่อ
และประกันชีวิตแก่ลูกค้าหลากหลายกลุ่ม มีความโดดเด่นในเรื่องผลิตภัณฑ์ประกันภัยและบริการที่หลากหลายและแตกต่าง ช่องทางการจัดจำหน่ายที่หลากหลาย มีเสถียรภาพทางการเงินที่มั่นคงและแข็งแกร่ง
มีความเชี่ยวชาญในการรับประกันภัย และการบริการเรียกร้องสินไหมทดแทนในหลายประเทศทั่วโลก
“จุดแข็งของชับบ์ประเทศไทย คือ ความชำนาญด้านเทเลมาร์เก็ตติ้งและไดเร็คลูกค้ารายย่อย
ประกันทรัพย์สินขนาดใหญ่
แต่ไม่มีสาขาเพราะอยู่ในฐานะเป็นสาขาต่างประเทศ ซึ่งตามกฎหมายไม่สามารถเปิดสาขาได้ ขณะที่สามัคคีประกันภัย
มีช่องทางแบงก์แอสชัวรันส์ มีสาขา 16
สาขา เรียกได้ว่าทั้ง 2
บริษัทมีจุดเด่นและความเชี่ยวชาญที่ไม่เหมือนกัน เป็นการเอาสิ่งดีๆของ 2
บ้านมารรวมกัน
มาเติมเต็มธุรกิจให้มีความแข็งแกร่ง
มีช่องทางการจำหน่ายครบถ้วน ทั้งแบงก์แอสชัวรันส์ ตัวแทน สาขา นายหน้า และเทเลมาร์เก็ตติ้ง
ซึ่งฐานลูกค้าแบงก์แอสชัวรันส์มากมายหลายล้านรายเป็นช่องทางสร้างให้ชื่อ
CHUBB กระจายไปได้เร็ว”
นอกจากการโฟกัสทางด้านขยายธุรกิจแล้ว นิตยา
ยังบอกด้วยว่า ทางบริษัทแม่ยังคงให้ความสำคัญกับเรื่อง CSR ในทุกประเทศที่เข้าไปดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง
ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของสามัคคีประกันภัยที่มุ่งดูแลชุมชนท้องถิ่น
และได้ทำอย่างจริงจังในปีที่ผ่านมา โดยกำหนดงบประมาณในการทำ CSR จะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน โดย 85% เป็นด้านการศึกษาและสาธารณสุข ส่วนอีก 15%
ที่เหลือกรณีเกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติฉุกเฉินต่างๆ เช่น
น้ำท่วมใหญ่หรือแผ่นดินไหวที่เนปาล เป็นต้น
โดย
85% ในปี 2558 บริษัทฯมีโครงการ “ Hand
in Hand รวมพลัง สามัคคี” โครงการก่อสร้างอาคารสุขศาลา
อาคารอเนกประสงค์ อาคารเด็กเล็ก
และอาคารห้องสมุดให้กับโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนในพระอุปถัมภ์
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาสมหามลคงเฉลิมพระชนมพรรษา 5
รอบ นอกจากนี้ เมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา
ได้บริจาคเงินเพื่อสนับสนุนด้านการศึกษาให้กับโรงเรียนพระปริยัติธรรมทางภาคเหนือ 60 โรงเรียน ในพื้นที่ 5 จังหวัดได้แก่
น่าน พะเยา แพร่
เชียงรายและเชียงใหม่
ซึ่งเป็นโรงเรียนในพระอุปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี
ที่ให้การศึกษากับพระและสามเณรที่ครอบครัวฐานะยากจน และบางส่วนมาจากครอบครัวแตกแยกอีกด้วย
“การจัดงบประมาณด้านกิจกรรม CSR ในแต่ละปีขึ้นอยู่กับผลกำไร
ปกติจะอยู่ประมาณ 6-7 ล้านบาท ซึ่งในปีนี้จะอยู่ระดับนี้
ถือว่าเป็นเม็ดเงินที่สูงมากทีเดียวในการทำกิจกรรม CSR ทั้งที่เป็นบริษัทที่ไม่ได้มีขนาดใหญ่มาก
ซึ่งที่ผ่านมาเรามุ่งไปที่การให้โอกาสกับผู้ด้อยโอกาส อย่างเช่นโรงเรียนตชด.บ้านป่าหมาก
จ.ประจวบคีรีขันธ์ ที่เราได้มอบอาคารสุขศาลาล่าสุด เป็นอีกหนึ่งในพื้นที่ชุมชนภายในท้องถิ่นไทย
ที่ยังต้องการความช่วยเหลือ”
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น