วันพฤหัสบดีที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2559

โอกาสและอุปสรรคด้านการลงทุนในเมียนมา

 
สหภาพเมียนมา เป็นประเทศที่มีรายได้ต่อหัวของประชากรน้อยที่สุดในอาเซียน แต่มีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ อาทิ ป่าไม้ น้ำมัน แก๊สธรรมชาติ อัญมณี และแร่ธาตุต่าง ๆ อีกทั้งยังมีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเพาะปลูกในภาคเกษตรกรรม และมีแหล่งทรัพยากรสัตว์น้ำที่มีความหลากหลาย นอกจากนี้ เมียนมายังมีประชากรจำนวนมากกว่า 60 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในวัยแรงงานทำให้มีค่าจ้างแรงงานต่ำกว่าประเทศอื่นใน ภูมิภาคเดียวกัน ประกอบกับปัจจุบันรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมให้มีการลงทุนจากต่างประเทศและเปิด เสรีด้านการลงทุนเพิ่มมากขึ้นกว่าในอดีต จึงทำให้เมียนมาเป็นประเทศที่มีศักยภาพและได้รับความสนใจในการลงทุนจากต่าง ชาติเป็นจำนวนมาก
สำหรับธุรกิจ ของไทยที่เข้าไปลงทุนในเมียนมาส่วนใหญ่ยังเป็นการลงทุนด้านทรัพยากรธรรมชาติ ได้แก่ ธุรกิจพลังงาน โดยเฉพาะแก๊สธรรมชาติและเหมืองแร่ ขณะที่การลงทุนในสาขาอื่นยังมีสัดส่วนไม่มากนัก ซึ่งโอกาสการลงทุนในเมียนมายังมีได้อีกหลายสาขาอุตสาหกรรม เช่น การแปรรูปสินค้าเกษตรและประมง เฟอร์นิเจอร์ ก่อสร้างและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง โลจิสติกส์ สิ่งทอ และธุรกิจด้านการท่องเที่ยว เป็นต้น
การวิเคราะห์สภาวะแวดล้อม (SWOT) ของสหภาพเมียนมา
จุดแข็ง (Strengths)
- มีทรัพยากรธรรมชาติจำนวนมากและมีคุณภาพ เช่น ป่าไม้ น้ำมัน แก๊สธรรมชาติ อัญมณี และแร่ธาตุต่าง ๆ รวมถึงทรัพยากรทางทะเลอีกทั้งยังมีสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศที่เหมาะสม สำหรับการเพาะปลูกพืชผลทางการเกษตร ทำให้เมียนมามีความได้เปรียบด้านปัจจัยการผลิต
- ที่ตั้งภูมิศาสตร์สามารถเชื่อมโยงการขนส่งกับต่างประเทศได้สะดวกมีเส้นทาง คมนาคมทางบกเชื่อมต่อกับจีน อินเดีย ไทย และ สปป.ลาว ทำให้เมียนมามีความได้เปรียบในการติดต่อการค้าและการขนส่งสินค้าผ่านแดน ระหว่างประเทศข้างต้น ซึ่งไทยก็สามารถใช้จุดแข็งดังกล่าวของเมียนมาเป็นประตูสู่เอเซียใต้ได้เช่น กัน
- เมียนมามีแรงงานจำนวนมากและยังมีค่าจ้างแรงงานต่ำ จึงเหมาะสำหรับการลงทุนในอุตสาหกรรมที่มีการใช้แรงงานเข้มข้นหรือใช้เป็นฐาน การผลิตสินค้าเพื่อส่งออกไปยังประเทศอื่นต่อไป
 
จุดอ่อน (Weaknesses)
- เมียนมายังขาดความพร้อมด้านสาธารณูปโภคพื้นฐาน อาทิ ระบบไฟฟ้า โทรคมนาคม และการคมนาคมขนส่ง ซึ่งนอกจากจะมีไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ภายในประเทศและรองรับการเติบโตใน อนาคตแล้ว ยังไม่ได้รับการพัฒนาให้มีมาตรฐานเพียงพออีกด้วย ซึ่งเป็นข้อจำกัดในการขยายการลงทุน และส่งผลต่อต้นทุนประกอบการด้วย
- แรงงานชาวเมียนมาส่วนใหญ่เป็นแรงงานไร้ฝีมือ ยังขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะฝีมือ รวมถึงผู้ที่มีความรู้ความสามารถในการทำธุรกิจระหว่างประเทศ
- เมียนมาอยู่ระหว่างการพัฒนาระบบการเงินภายในประเทศ ซึ่งขณะนี้ยังคงต้องเผชิญปัญหาเกี่ยวกับอัตราแลกเปลี่ยน อัตราเงินเฟ้อ และฟองสบู่ราคาสินทรัพย์
- ชาวเมียนมาส่วนใหญ่มีรายได้ไม่สูง ทำให้มีกำลังซื้อต่ำ การพิจารณาเลือกบริโภคสินค้าจะคำนึงถึงราคามากกว่าคุณภาพ
- ปัญหาชนกลุ่มน้อยตามแนวชายแดน ซึ่งยังมีการสู้รบระหว่างรัฐบาลอยู่นั้นอาจส่งผลต่อความปลอดภัยตามแนวชายแดนได้
โอกาส (Opportunities)
- รัฐบาลเมียนมามีนโยบายเปิดประเทศ มีมาตรการส่งเสริมการลงทุนและเปิดเสรีด้านการลงทุน ทำให้หลายประเทศสนใจเข้ามาทำการค้าและลงทุนเพิ่มมากขึ้น
- จากความสัมพันธ์อันดีระหว่างรัฐบาลของไทยกับเมียนมา รวมถึงกรอบความร่วมมือด้านเศรษฐกิจของอาเซียน และการที่มีเขตชายแดนติดต่อกัน ส่งผลให้ไทยมีความได้เปรียบในโอกาสการลงทุนและการค้าชายแดนกับเมียนมา
- เมียนมามีประชากรจำนวนมาก จึงเป็นโอกาสทางการตลาดสำหรับสินค้าอุปโภคและบริโภค อีกทั้งชาวเมียนมายังมีความเชื่อมั่นในสินค้าไทยทั้งด้านราคาและคุณภาพ
- เมียนมาอยู่ระหว่างการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ประกอบกับเศรษฐกิจมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีความต้องการสำหรับอุตสาหกรรมก่อสร้าง วัสดุอุปกรณ์ รวมถึงธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องอีกเป็นจำนวนมาก
- ยังมีการแข่งขันสำหรับการลงทุนจากประเทศตะวันตกไม่มากนักจึงยังเป็นโอกาสของ ไทยในการเข้าลงทุนและครองตลาดภายในเมียนมา อีกทั้งการขนส่งสินค้าจากไทยไปเมียนมายังมีต้นทุนต่ำกว่าประเทศคู่แข่งด้วย
- เมียนมามีแหล่งท่องเที่ยวที่มีความหลากหลายทั้งด้านความสวยงามของภูมิศาสตร์ และความน่าสนใจของวัฒนธรรม จึงเป็นโอกาสสำหรับธุรกิจการท่องเที่ยวและการบริการ
อุปสรรค (Threats)
- ระบบราชการมีการทุจริตคอรัปชั่นสูงและยังมีความไม่แน่นอนทางการเมือง กฎระเบียบทางการค้ามีการเปลี่ยนแปลงบ่อย การปฏิบัติงานของหน่วยราชการมีความล่าช้า ขาดการประสานงานที่ดีระหว่างหน่วยงานราชการด้วยกันเอง
- เมียนมายังขาดระบบการจัดเก็บข้อมูลที่ถูกต้อง ซึ่งไม่มีประสิทธิภาพและความทันสมัย ทำให้ขาดข้อมูลด้านการตลาดและการเงินซึ่งส่งผลต่อความสามารถในการตัดสินใจ และอาจเกิดความผิดพลาดในการวางแผนลงทุนได้
- มีการแข่งขันสูงสำหรับสินค้าจากจีนและอินเดียซึ่งมีพรมแดนติดต่อกับเมียนมา
- ยังคงมีมาตรการกีดกันทางการค้า เช่น การจำกัดปริมาณนำเข้าสินค้า เป็นต้น
โดย กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Disqus Shortname

Comments system