วันเสาร์ที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2559

‘ชิปปิ้งไทย’ต้องปรับตัว ณัฐสพรรษ กรึงไกร ฝากรัฐเสริมสภาพคล่องรายเล็ก

หนังสือพิมพ์ ทรานสปอร์ต เจอร์นัล Social / กระบอกเสียง ฉบับที่ 801 ประจำวันที่ 16 - 31 มีนาคม 2559

การทำธุรกิจในยุคที่มีตลาดใหญ่ขึ้น ย่อมส่งผลให้มีคู่แข่งมากขึ้น เช่นเดียวกับตลาดอาเซียน เมื่อมีการรวมกลุ่มกัน ย่อมมีทั้งวิกฤติและโอกาส แต่สำหรับผู้ประกอบการ การปรับตัวตั้งมือรับ เพื่อสร้างความพร้อมในสมรภูมิการแข่งขัน จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง


เช่นเดียวกับ “สมาคมชิปปิ้ง” ภายใต้การนำของ ณัฐสพรรษ กรึงไกร นายกสมาคมชิปปิ้งแห่งประเทศไทย ที่มองเห็นช่องทางในตลาดเหล่านี้ และอยากให้ผู้ประกอบการมองเห็น “โอกาส” มากกว่า “วิกฤติ” ภายใต้สภาวะการค้าที่เปลี่ยนแปลง

ณัฐสพรรษ ถือว่าเป็นนายกสมาคมที่มีบทบาทในการทำงาน โดยเฉพาะการทำงานในลักษณะความร่วมมือกับองค์กรต่างๆ ระดับประเทศ เช่น สำนักงานโลจิสติกส์ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กระทรวงอุตสาหกรรม การร่วมมือทางวิชาการกับมหาวิทยาลัยศรีปทุม การร่วมมือกับไปรษณีย์ไทย เป็นต้น

เรื่องแรกที่ได้ให้ความสำคัญ คือ การสร้างความพร้อมให้กับอาชีพชิปชิ้ง คุณณัฐสพรรษสะท้อนว่าปี 2559 ไทยได้เข้าสู่การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ในฐานะที่ตนเป็นนายกสมาคมชิปปิ้งแห่งประเทศไทย ก็ได้เตรียมการเรื่องนี้เมื่อ 1 - 2 ปีที่ผ่านมา โดยได้มีการจัดฝึกอบรมแก่สมาชิกของสมาคมให้รู้ว่าการเข้าสู่เออีซีต้องเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง โดยเรื่องหลักๆ ได้แก่ 1. มาตรฐานของบริษัทที่เป็นสมาชิกของสมาคมฯ ซึ่งขณะนี้ได้ร่วมมือกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าอบรมความเป็นมาตรฐานบริหาร ISO โดยมีสมาชิกจำนวนหนึ่งที่เข้าอบรมทุกปี 2. การบริหารงานภายในองค์กรต้องคำนึงถึงเรื่องโครงสร้างที่เป็นมาตรฐานทุกบริษัทควรมีแผ่นชาร์ตในการทำงานว่าใครทำตำแหน่งอะไร เพื่อคนที่มาติดต่อสามารถทราบได้ 3. ทุกองค์กรควรจะมีการสื่อสารกับสาธารณะ เช่น มีแฟนเพจของบริษัท เพราะโลกยุคใหม่การติดต่อจะผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์

ปัจจุบันหน่วยงานของรัฐมีการปรับกฏระเบียบหลายเรื่อง นายกสมาคมชิปปิ้ง สะท้อนว่า ในฐานะตัวแทนออกของต้องติดตามกฎระเบียบใหม่ๆ ให้ทัน เมื่อเข้าสู่เออีซี ทุกประเทศพยายามออกกฎระเบียบในการคุ้มครองอุตสาหกรรมและการค้า ของตน ดังนั้น ต้องศึกษาทุกกฎระเบียบให้รอบคอบรัดกุมและสอดคล้องกับข้อกฎหมายที่เปลี่ยนไป

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของผู้ประกอบการ โลจิสติกส์ได้มีการเปิดให้ต่างประเทศเข้ามาร่วมกิจการเมื่อ 3 ปีที่แล้ว และเราก็คุ้นเคยกับคู่แข่งที่เป็นชาวต่างชาติในไทย ซึ่งมีบริษัทแม่ที่ต่างประเทศซึ่งในช่วง 3 ปีที่แล้ว ถ้าใครสามารถทำงานร่วมกับชาวต่างชาติได้ ก็สามารถเดินไปข้างหน้าได้

เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไป อยากให้มองเป็นโอกาส เพราะเราไม่สามารถทัดทาน บริษัทโลจิสติกส์ของต่างประเทศ ที่มีเครือข่ายในไทยได้ เพราะมองว่าถ้าเราเข้าไปร่วมมือทำตัวเองให้เป็นพาร์ทเนอร์มากกว่าเป็นคู่แข่ง  เราจะได้ประโยชน์จากส่วนนี้ เพราะบริษัทต่างชาติเหล่านี้มีทั้งเงินและเครือข่าย เขาไม่สามารถหาประโยชน์ได้ถ้าไม่มีบริษัทคนไทย ซึ่งเราต้องทำให้ได้มาตรฐาน เพราะถ้าไม่ได้มาตรฐานทำการค้ายุคใหม่ไม่ได้

นายกสมาคมชิปปิ้งแนะว่า สิ่งที่ผู้ประกอบการชิปปิ้งต้องพัฒนา ได้แก่ ระบบไอที, การปรับพื้นฐานความสามารถในการใช้ภาษาที่ 2  ซึ่งไม่จำเป็นต้องภาษาอังกฤษอย่างเดียว แต่ภาษาอื่นก็จำเป็น ได้แก่ จีน, เขมร และเมียนมา เป็นต้น นอกจากนี้สำนักงานต้องมีมาตรฐาน  เช่นเรื่อง AEO ของ WCO ซึ่งระบุไว้ว่า สำนักงานต้องเป็นสำนักงานที่ดีมีระบบความปลอดภัย มีห้องทำงานที่ชัดเจน มีป้ายระบุชื่อบริษัท และมีพนักงานที่สามารถติดต่องานได้ตลอดในเวลาทำงาน

“อุตสาหกรรมผู้ให้บริการโลจิสติกส์ หรือตัวแทนออกของจะมีผู้ประกอบการจากต่างประเทศเข้ามาร่วมด้วย อยากให้สมาชิกที่เป็นบริษัทคนไทยเห็นเป็นโอกาส บางคนมองเป็นด้านลบ แต่ถ้าเราเป็นบริษัทที่มีมาตรฐานของประเทศ เชื่อได้ว่าเขาต้องมาเป็นคู่ค้ากับเรา นั่นหมายความว่าเขาก็นำลูกค้ามาให้เราด้วย  และจะทำให้เราเติบโตไปด้วยกัน” คุณณัฐสพรรษ กล่าว

ส่วนอุปสรรค หรือข้อเรียกร้องที่อยากให้ภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือ คุณณัฐสพรรษ สะท้อนว่า ต้องการสร้างสภาพคล่องแก่ผู้ประกอบการชิปปิ้งที่มีขนาดเล็ก ซึ่งมีปัญหาเรื่องการเงินในการหมุนเวียนธุรกิจ ขณะนี้กำลังติดต่อกับธนาคารเอสเอ็มอี และ สสว. เพื่อมาช่วยสร้างสภาพคล่องแก่สมาชิกในระดับหนึ่ง ตรงนี้ถ้ามีกองทุน หรือเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ก็จะช่วยให้ผู้ประกอบการมีความคล่องตัวขึ้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Disqus Shortname

Comments system