วันเสาร์ที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2559

หยั่งเสียงปชช.รถไฟไทย-จีน สู่ฮับโลจิสติกส์ทางรางอาเซียน




“คมนาคม” เปิดเวทีให้ความรู้-สร้างความเข้าใจ พร้อมหยั่งเสียงประชาชนชาวขอนแก่นพัฒนารถไฟไทย – จีน หวังเป็นฮับโลจิสติกส์ทางรางของอาเซียน ขณะเดียวกันเร่งสรุปสัดส่วนการลงทุนในการประชุมครั้งที่ 10 ก่อนจัดตั้งบริษัทร่วมทุนในรูปแบบ SPV ทั้งโครงการ “อาคม” ยืนยันตอกเสาเข็มยังคงตามแผน พ.ค. นี้


นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังการเปิดสัมมนาเพื่อสร้างการรับรู้ข้อมูล ความเข้าใจ รับฟังความคิดเห็น และข้อเสนอแนะของประชาชนครั้งที่ 3 ภายใต้โครงการ สร้างการรับรู้ ความเข้าใจและรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อการพัฒนาโครงการก่อสร้างรถไฟขนาดทาง มาตรฐานจังหวัดขอนแก่นว่า การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบราง ถือเป็น 1 ยุทธศาสตร์สำคัญของกระทรวงคมนาคม ในการใช้ประโยชน์เชิงเศรษฐกิจ จากการใช้รถไฟ สร้างประสิทธิภาพในการขนส่ง โดยเฉพาะการกระตุ้นเศรษฐกิจ และการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประเทศ

“ในอนาคตหากโครงการก่อสร้างรถไฟขนาดทางมาตรฐานแล้วเสร็จ จ.ขอนแก่น จะเป็นศูนย์กลางด้านคมนาคมขนส่งทางรางที่สำคัญในระดับภูมิภาคอาเซียน ตามแผนพัฒนาโครงข่ายระบบคมนาคมขนส่งทางรางของประเทศไทยพ.ศ.2558 - 2565 โดย จ.ขอนแก่น จะเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางรถไฟ จุดพักและการกระจายสินค้าไปยังจังหวัดใกล้เคียงในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมทั้งพื้นที่ในภาคตะวันออก และประเทศเพื่อนบ้าน”นายอาคม กล่าว

นายอาคม กล่าวถึงประโยชน์ที่ไทยจะได้รับจากการพัฒนาโครงการรถไฟไทย-จีนว่า จากโครงการดังกล่าวจะเป็นการเดินทางและการขนส่งสินค้าอีกทางเลือกหนึ่งที่มีความเร็วสูงในอนาคตรวมถึงสามารถทำให้ประเทศไทยเชื่อมโยงระบบรางไปถึงจีนได้ โดยผ่านสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
และจะช่วยสนับสนุนความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศ

ขณะเดียวกันยังเป็นโอกาสสำคัญยิ่งในการกระจายความเจริญ และรายได้สู่ภูมิภาคตลอดแนวเส้นทางที่รถไฟวิ่งผ่านขณะที่การประชุม ร่วมระหว่างไทย-จีน ครั้งที่ 10 นั้น ที่คาดว่าจะมีการประชุมในช่วงต้น มี.ค. 59 นายอาคม กล่าวว่า จะมีการพิจารณาถึงสัดส่วนการลงทุนระหว่างไทย-จีน ในสัดส่วน 60:40
และเร่งรัดการจัดตั้งบริษัทร่วมทุน ในรูปแบบนิติบุคคลเฉพาะกิจ (SPV) ทั้งโครงการ จากเดิมจะเป็นแค่การเดินรถเท่านั้น ซึ่งการจัดตั้งบริษัทร่วมทุน จะต้องสรุปสัดส่วนการลงทุนให้มีความชัดเจนก่อน อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าการตอกเสาเข็มเริ่มต้นโครงการ จะยังคงเป็นไปตามกำหนดการเดิม คือ พ.ค.นี้

สำหรับโครงการก่อสร้างรถไฟขนาดทางมาตรฐาน ขนาด 1.435 เมตร (Standard Gauge) มีแนวเส้นทาง แบ่งเป็น 4 ช่วง ได้แก่ ช่วงที่ 1 กรุงเทพฯ (บางซื่อ) - แก่งคอย ระยะทาง 118 กม. ช่วงที่ 2 แก่งคอย - มาบตาพุด ระยะทาง 239 กม. ช่วงที่ 3 แก่งคอย - นครราชสีมา ระยะทาง 134 กม. และช่วงที่ 4 นครราชสีมา - หนองคาย ระยะทาง 354 กม. รวมระยะทาง 845 กม.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Disqus Shortname

Comments system