วันจันทร์ที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2559

ประกันรถใหญ่คึกรับ AEC บูมโลจิสติกส์เชื่อมเพื่อนบ้าน

หนังสือพิมพ์ Transport Journal ฉบับที่ 801 • ประจำวันที่ 16 - 31 มีนาคม 2559





ตลาดประกันภัยรถบรรทุกเพื่อการพาณิชย์ 150,000 คัน คักคักรับเปิด AEC บริษัทประกันวินาศภัยสบช่อง โดดชิงส่วนแบ่งตลาด เชื่อบริการด้านโลจิสติกส์มีโอกาสเติบโตต่อเนื่อง ด้าน“วิริยะประกันภัย” เสือปืนไว ตั้งทีมโลจิสติกส์ขึ้นมาดูแลโดยเฉพาะ หวังขยายตลาดรับประกันทั้งตัวรถและสินค้า ด้าน”นำสินประกันภัย”ไม่น้อยหน้า เดินหน้าเพิ่มพอร์ตรถบรรทุกต่อเนื่อง ชูจุดแข็งศูนย์บริการพร้อมรองรับทั่วประเทศ ขณะที่เอ็ม เอส ไอ จี เร่งขยายศูนย์บริการเตรียมรับ AEC เช่นกัน
จากการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา นอกจากจะส่งผลต่อการขยายตัวในส่วนของการค้าชายแดนที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้าน อย่างมาเลเซีย เมียนมา สปป.ลาว และกัมพูชา แล้ว ธุรกิจที่จะได้รับอานิสงศ์ตามมาคือกลุ่มธุรกิจประกันวินาศภัย ทั้งในส่วนของการประกันภัยรถบรรทุก ซึ่งปัจจุบันมีการทำประกันภัยอยู่ประมาณ 150,000 คัน และส่วนที่เป็นประกันภัย ด้านความรับผิดของผู้ขนส่งสินค้า (Carrier's Liability Insurance Policy) ซึ่งจะเป็นประกันภัยหากเกิดความเสียหายระหว่างขนส่งสินค้า นอกเหนือไปจากการประกันภัยตัวรถบรรทุก ซึ่งการเปิด AEC จะทำให้ตลาดกลุ่มนี้เติบโตขึ้นอีกมากตามการเติบโตของโลจิสติกส์ ซึ่งประเทศไทยนับว่าได้เปรียบในด้านนี้ เพราะเป็นศูนย์กลางมีชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้านถึง 4 ประเทศ

“วิริยะ”ตั้งทีมโลจิสติกส์รับ AEC
นายกฤษณ์  หิญชีระนันท์  ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บมจ.วิริยะ ประกันภัย เปิดเผยว่า ปัจจุบันวิริยะประกันภัย ถือว่าเป็นบริษัทผู้นำตลาดประกันภัยรถใหญ่รถบรรทุก มีจำนวนลูกค้าอยู่ประมาณ 50,000 คัน คิดเป็นเบี้ยประกันภัยต่อปีอยู่ที่ประมาณ 4,500 ล้านบาท ซึ่งเป็นการประกันภัยตัวรถ เบี้ยประกันภัยเฉลี่ยคันละ 90,000 บาท และจากการที่มีการขนส่งสินค้ามากขึ้นภายหลังการเปิด AEC ทางบริษัทฯ จึงได้ขยายตลาดในส่วนของการประกันภัยความรับผิดของผู้ขนส่งสินค้ามากขึ้น หลังจากที่ในปีที่ผ่านมามีเบี้ยประกันภัยดังกล่าวประมาณ 240 ล้านบาทเท่านั้น หรือคิดเป็นสัดส่วนไม่ถึง 10% ของจำนวนรถบรรทุกทั้งหมด
สำหรับการบุกตลาดประกันภัยด้านโลจิสติกส์ เป็นอีกหนึ่งเป้าหมายสำคัญในการขยายตลาดของบริษัทฯ โดยในปีที่ผ่านมา ได้ตั้งทีมโลจิสติกส์ขึ้นมาดูแลโดยเฉพาะ ซึ่งทีมดังกล่าวเป็นการนำร่อง โดยจะประจำอยู่ที่สำนักงานใหญ่ในกรุงเทพฯ และที่สาขาอุดรธานี เพื่อทำหน้าที่ให้ข้อมูลกับผู้ประกอบการขนส่งสินค้าที่ต้องการขยายความคุ้มครองไปนอกอาณาเขต ซึ่งที่ผ่านมาพบว่า ส่วนใหญ่ขอขยายไปที่สปป.ลาว โดยมีรถขนส่งสินค้าจากไทยวิ่งข้ามไปประมาณ 100 คันต่อเดือน
“สำหรับการบุกตลาดทางด้านโลจิสติกส์ เป็นการต่อยอดจากลูกค้าเดิมที่ทำประกันภัยรถบรรทุกที่อยู่ประมาณ 50,000 คัน ให้เข้ามาทำประกันตัวสินค้าเพิ่มเติม ซึ่งในส่วนของโลจิสติกส์นั้น ทางวิริยะฯไม่ได้มองแค่รถบรรทุกใหญ่เท่านั้น แต่จะลงไปจับตลาดรถขนาดเล็กที่มาขนถ่ายสินค้าต่อไปอีกทอดด้วย แน่นอนว่า นโยบายด้านประกันภัยโลจิสติกส์ จะสอดคล้องกับการเปิดเออีซี ซึ่งที่ผ่านมาได้เริ่มไปแล้วในสปป.ลาว โดยทำสัญญาร่วมกับเอแอลจี ลาว เพื่อให้บริการและรับการคุ้มครองลูกค้าร่วมกัน ส่วนในกัมพูชาเราทำสัญญากับ เอเชีย อินชัวรันส์  ส่วนในพม่าอยู่ระหว่างการพิจารณา เนื่องจากยังติดในข้อกฎเกณฑ์ที่ยังไม่เปิดโอกาสให้มีการขยายการประกันภัยเข้าไปมากนัก”

“นำสิน”เล็งเพิ่มแชร์รถใหญ่5%
นายเลิศชาย  ประภาศิริรัตน์ รองกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท นำสินประกันภัย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า นโยบายการทำตลาดของนำสินในปีนี้ ยังคงเน้นขยายตลาดประกันรถรถใหญ่เป็นหลัก ซึ่งจะเป็นการล้อไปกับการเปิดเออีซีด้วย อีกทั้ง ตลาดประกันรถใหญ่ เป็นตลาดที่บริษัทมีความชำนาญและมีจุดแข็งในการรับประกันมาแต่ดั้งเดิมอยู่แล้ว โดยปัจจุบันบริษัทมีพอร์ตงานรถใหญ่อยู่ประมาณ 80%
แน่นอนว่า จากการเปิดเออีซี งานด้านโลจิสติกส์น่าจะขยายตัวได้อีกมาก จึงน่าจะทำให้บริษัทสามารถขยายเพิ่มสัดส่วนแบ่งการตลาดประกันภัยที่เกี่ยวข้องได้เช่นเดียวกัน โดยในปีนี้ บริษัทฯ ตั้งเป้าหมายจะเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดในการรับประกันรถบรรทุกขนาดใหญ่เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันอยู่ 6-7% เพิ่มขึ้นมาเป็น 10-13% หรือ เพิ่มขึ้นอีกอย่างน้อย 5% จากปัจจุบันในอุตสาหกรรมมีรถใหญ่ที่ทำประกันภัยอยู่ประมาณ 150,000 คัน
“การขยายตลาดจะต้องสอดคล้องกับการให้บริการด้วย เพราะถือเป็นจุดสำคัญในการรองรับการเติบโตของธุรกิจ โดยเฉพาะปัจจุบันบริษัทมีอู่รถใหญ่ถึง 300 อู่ และอู่รถเล็กมีถึง 200 อู่ นอกจากนี้ ในส่วนของการบริการด้านสินไหม จะต้องมีความพร้อมอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่อุบัติเหตุ เจ้าหน้าที่คุมราคา หัวหน้าเคลม หรือฝ่ายพิจารณาสินไหม ซึ่งทุกสาขาจะมี 4 ฝ่ายนี้ประจำอยู่ในจุดนั้นตลอด ส่วนเจ้าหน้าที่สำรวจภัย จะใช้พนักงานงานของบริษัท โดยไม่มีการจ้างเอ้าท์ซอร์สหรือบุคคลภายนอกมาทำเคลม เนื่องจากสามารถควบคุมคุณภาพและค่าใช้จ่ายได้ง่ายกว่าการใช้เอ้าทซอร์ส”
นายเลิศชาย กล่าวอีกว่า ในส่วนการเปิดสาขาเพื่อรองรับเออีซีนั้น จะเน้นไปที่จังหวัดที่เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ และจังหวัดที่มีชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งจะเป็นการขยายตลาดไปยังกลุ่มประเทศในเออีซีได้ โดยในปีที่แล้วได้เปิดสาขาเชียงราย นครพนม และมุกดาหาร ซึ่งเป็นสาขาที่สามารถรองรับการขยายงานไปประเทศเพื่อนบ้านได้ทันที ขณะที่ในปีนี้ มีแผนจะเปิดอีก 3 สาขา เพื่อให้ครบ 31 สาขา ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณา โดยมองไว้ที่แม่สอด ซึ่งสามารถรองรับการขยายตลาดไปยังพม่าได้ รวมถึงจังหวัดแพร่ สำหรับให้บริการลูกค้าในจังหวัดใกล้เคียง เพื่อช่วยเสริมบริการของสาขาพิษณุโลกกับเชียงใหม่ ซึ่งค่อนข้างห่างกันพอสมควร และสระแก้ว หรือกบิลบุรี ที่จะสามารถรองรับการให้บริการลูกค้าฝั่งชายแดนกัมพูชาได้ดียิ่งขึ้น  ทั้งนี้ บริษัทฯมองว่าจำนวนสาขา 31 แห่ง น่าจะเพียงพอสำหรับการให้บริการและการขยายตลาดในอีก 3-4 ปีข้างหน้า

MSIGผนึกพันมิตรบริการต่างแดน
นายสุรชัย รัถยาวิศิษฎ์ ผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายรับประกันภัยและสินไหม บมจ. เอ็ม เอส ไอ จี ประกันภัย (ประเทศไทย) กล่าวถึงการขยายตลาดประกันภัยขนส่งว่า บริษัทฯยังมองถึงโอกาสของการขยายตัวของประกันภัยด้านการจนส่งที่จะได้รับอานิสงส์จากการเปิดเออีซีด้วยเช่นกัน ทางบริษัทฯจึงได้บุกตลาดประกันภัยรถยนต์เขิงพาณิชย์อย่างจริงจัง และทำให้เบี้ยประกันภัยจากลูกค้ากลุ่มนี้เพิ่มขึ้นอย่างมาก เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
พร้อมกันนี้ บริษัทฯได้ขยายบริการให้สอดคล้องกับการขยายตลาดด้วย โดยเฉพาะกับประเทศเพื่อนบ้านที่มีชายแดนติดกับประเทศไทย ซึ่งขณะนี้ในด้านการให้บริการลูกค้าเพื่อรองรับเออีซีนั้น บริษัทฯมีการขยายความคุ้มครองไปถึงประเทศสปป.ลาว โดยผู้เอาประกันภัยสามารถแจ้งขอขยายความคุ้มครองเพิ่มเติมในพื้นที่ลาวจากกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ฉบับเดิม และซื้อพรบ. เพิ่มเติมจาก MSIG ลาว และหากเกิดอุบัติเหตุ สามารถใช้บริการจากเครือข่าย MSIG ลาวได้เลย ส่วนประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ กำลังศึกษาความเป็นไปได้อยู่
“การขยายความคุ้มครองด้านการประกันภัยภาคขนส่งไปยังกลุ่มประเทศเออีซีของเอ็ม เอส ไอ จี ค่อนข้างได้เปรียบคู่แข็งพอสมควร เพราะเรามีบริษัทในเครือที่ดำเนินงานอยู่ในแต่ละประเทศอยู่แล้ว อย่างเช่น สปป.ลาว เร็วๆนี้จะมีการร่วมมือกับ เอ็ม เอส ไอ จี มาเลเซีย เพื่อร่วมให้บริการลูกค้าระหว่างกัน ส่วนในเมียนมา อยู่ระหว่างการพิจารณาหาพันธมิตร เนื่องจากยังไม่สามารถเข้าไปตั้งบริษัทประกันภัยได้ ขณะเดียวกัน รถขนส่งสินค้าจากฝั่งไทยสามารถเข้าไปลึกสุดจากชายแดนแค่เพียง 10 กม.เท่านั้น จากนั้นจะต้องขนส่งด้วยรถยนต์ของทางฝั่งเมียนมา แต่ในเงื่อนไขการประกันภัยสินค้าจะสิ้นสุดก็ต่อเมื่อสินค้าถึงจุดหมาย ดังนั้นในส่วนนี้จึงยังเป็นปัญหาและอุปสรรคของการให้บริการพอสมควร”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Disqus Shortname

Comments system