วันพฤหัสบดีที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2559

ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนบางประการเกี่ยวกับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

                                   ภาพประกอบจาก : www.sakaeo.go.th

ใครที่ติดตามข่าวสารเกี่ยวกับประชาคมอาเซียนย่อมทราบว่า วันที่ 31 ธันวาคม 2558 ที่ผ่านมา เป็นวันที่เข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียนอย่างเป็นทางการ
สำหรับไทยถือว่าเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญกับประชาคมอาเซียนค่อนข้างมาก (เมื่อเทียบกับบางประเทศ เช่น สิงคโปร์) สังเกตได้จากการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับประชาคมอาเซียนในหน่วยงานต่าง ๆ ของภาครัฐทั้งในรูปของเอกสารสิ่งพิมพ์ เอกสารอิเล็กทรอนิกส์ การจัดเสวนา สัมมนา อภิปราย ที่มีให้เห็นอยู่ในทุกหน่วยงานในช่วงปีที่ผ่านมา ในโรงเรียนต่าง ๆ มีการจัดห้องสมุดหรือมุมเกี่ยวกับประชาคมอาเซียนขึ้นมาเป็นการเฉพาะ มีการประดับธงชาติของประเทศสมาชิกอาเซียน มีสื่อการสอนเกี่ยวกับอาเซียน มีการจัดบอร์ดต่าง ๆ เช่น บอร์ดแสดงคำทักทายของชาวอาเซียน มีการจัดนิทรรศการเครื่องแต่งกายประจำชาติ ฯลฯ
ทางสำนักพิมพ์เอกชนต่างก็ผลิตหนังสือเกี่ยวอาเซียนออกมาจำหน่ายกันอย่างคึกคัก ทั้งด้านที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจ การเมือง สังคมและวัฒนธรรม นอกจากนี้ สื่อสิงพิมพ์รายเดือน รายปักษ์ รายสัปดาห์ และหนังสือพิมพ์รายวันต่างเปิดคอลัมน์เกี่ยวกับประชาคมอาเซียนกันทั่วหน้า และในสื่อออนไลน์ก็จะเห็นเว็บไซต์เกี่ยวกับประชาคมอาเซียนจำนวนไม่น้อย
ทั้ง หมดที่กล่าวมาย่อมยืนยันได้ดีว่า ไทยเอาจริงเอาจังกับเรื่องของ "การเตรียมความพร้อม” ในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนอย่างมาก โดยเฉพาะการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC) ที่เป็นหนึ่งในสามเสาหลักของประชาคมอาเซียน จากบรรยากาศการ "เตรียมความพร้อม” เป็นอย่างมากนี้ ทำให้ประชาชนได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ เกี่ยวกับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจากแหล่งต่าง ๆ มากมาย และมีหลายคนที่นำไปอธิบายขยายความทั้งที่เป็นการเขียนการพูดต่อ ๆ กัน จนในที่สุดทำให้บางคนเกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนไป เช่น
1. มีคนเข้าใจว่า เมื่อเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนแล้วประเทศไทยจะมีการเปิดเสรีด้านการค้ามาก ขึ้น จะมีการลดอัตราภาษีการนำเข้าสินค้าและบริการต่าง ๆ ทำให้สินค้าจากต่างชาติเข้ามาแข่งขันกับสินค้าในประเทศเป็นอย่างมาก
2. มีคนเข้าใจว่า เมื่อเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนแล้ว จะมีแรงงานจากต่างชาติเข้ามาแย่งอาชีพคนไทยในทุกสาขาอาชีพ เนื่องจากจุดอ่อนของแรงงานไทยคือพูดภาษาอังกฤษไม่ได้
3. มีคนเข้าใจว่า เมื่อเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนแล้ว จะมีนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในธุรกิจต่าง ๆ มากมาย ถ้านักลงทุนไทยสู้ไม่ได้กิจการต่าง ๆ ก็จะเป็นของชาวต่างชาติ
นอกจากความคลาดเคลื่อนด้านเนื้อหาดังตัวอย่างข้างต้น ยังมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนด้านเวลาด้วยว่า ทุกอย่างที่กล่าวไปนั้นจะเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2558 เป็นต้นไป เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องตรงกัน ขอเรียนท่านผู้อ่านว่า...จริงๆ แล้ว
- การลดภาษีทางการค้าระหว่างกันในประเทศสมาชิกอาเซียนเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมานาน มากแล้ว เขาทำความตกลงกันมาตั้งแต่ ปี 2535 ในยุคของเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) ซึ่งมีกลไกของข้อตกลงระบบสิทธิพิเศษทางภาษีที่เท่ากันของอาเซียน (Common Effective Preferential Tariff: CEPT) เป็นตัวกำหนดระยะเวลาและอัตราภาษีที่ต้องลดให้แก่กัน
ใน ส่วนของไทยได้เริ่มลดอัตราภาษีมาอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2546 ทั้งรายการสินค้าลดภาษีปกติ(Inclusion List) รายการสินค้าอ่อนไหว (Sensitive List: SL) และรายการสินค้าอ่อนไหวสูง (Highly Sensitive List: HSL) และดำเนินการตามข้อตกลงไปเรียบร้อยแล้วตั้งแต่ปี 2553 หรือเมื่อ 5 ปีมาแล้ว หลังจากวันที่ 31 ธันวาคม 2558 จึงไม่มีความจำเป็นต้องลดอัตราภาษีสินค้าใด ๆ ต่อไปอีก
- การเปิดเสรีด้านแรงงานที่ว่า จะมีแรงงานต่างด้าวมาแย่งอาชีพต่าง ๆ ก็ไม่ใช่สิ่งที่ต้องกังวลมากนัก เนื่องจากตามข้อตกลงยอมรับร่วมในเรื่องคุณสมบัติของนักวิชาชีพอาเซียน (Mutual Recognition Arrangements: MRAs) เกี่ยวกับการโยกย้ายแรงงานระหว่างประเทศ ไม่ได้ครอบคลุมไปถึงทุกสาขาอาชีพแต่เป็นเฉพาะสาขาที่ตกลงกันไว้ได้แก่ วิชาชีพวิศวกรรม พยาบาล สถาปัตยกรรม การสำรวจ บัญชี แพทย์ ทันตแพทย์ และท่องเที่ยว
ซึ่งถ้าไปดูรายละเอียดในข้อตกลงยอมรับร่วมฯ ดังกล่าว ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ ที่แต่ละวิชาชีพที่จะเข้ามาทำงานในประเทศไทย เช่น แพทย์จากต่างชาติที่จะเข้ามาทำงานในประเทศไทยต้องสามารถสื่อสารด้วยภาษาไทย และต้องสอบใบอนุญาตเหมือนกับแพทย์ไทยทุกประการ
- ในด้านการลงทุนก็เช่นกัน ไม่ใช่ว่าเมื่อเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในวันที่ 31 ธันวาคม 2558 แล้วแต่ละประเทศจะเข้าไปลงทุนในประเทศอื่น ๆ ในกิจการใด ๆ ก็ได้ เนื่องจากความตกลงด้านการลงทุนของอาเซียน (ASEAN Comprehensive Investment Agreement: ACIA) ที่เกิดจากการนำความตกลงเขตการลงทุนอาเซียน (ASEAN Investment Agreement: AIA) มาผนวกกับความตกลงส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน (ASEAN Investment Guarantee Agreement: IGA) ซึ่งลงนามกันไปตั้งแต่ พ.ศ. 2552 ประกอบด้วยการเปิดเสรีการลงทุน การให้ความคุ้มครองการลงทุน การส่งเสริมการลงทุน และการอำนวยความสะดวกในการลงทุนนั้นในส่วนของการเปิดเสรีการลงทุนแต่ละ ประเทศสามารถมีข้อสงวนและตั้งเงื่อนไขในสาขาที่ยังไม่มีความพร้อมได้
เช่น ไทยมีข้อสงวนคือห้ามต่างชาติเข้ามาประกอบกิจการต่าง ๆ เช่น การสกัดสมุนไพร การทำนา ทำไร่ ทำสวน การเลี้ยงสัตว์ รวมถึงข้อสงวนเกี่ยวกับประกอบกิจการที่ต้องได้รับอนุญาตจากคณะรัฐมนตรี เช่น การเลี้ยงไหม การทำนาเกลือ การที่มีบางคนวิตกกังวลว่านักลงทุนต่างชาติจะเข้ามาแย่งงานคนไทยทุกระดับไป จนถึงชาวไร่ ชาวนา ก็ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด
กล่าวโดยสรุปก็คือ ในวันที่ 31 ธันวาคม 2558 จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ เกิดขึ้นอย่างกะทันหันตามที่หลายคนเข้าใจรวมถึงข้อกังวลต่าง ๆ ก็จะไม่มีความรุนแรงอย่างที่หลายคนคิด ไม่ได้หมายความว่าเราไม่จำเป็นต้องให้ความสนใจกับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ข้อเขียนนี้เพียงแต่ยกตัวอย่างให้เห็นว่ายังมีบางความเข้าใจที่ยังผิดพลาด คลาดเคลื่อนอยู่ในบางประเด็นเท่านั้น
ประชาคม เศรษฐกิจอาเซียนยังเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับทุกคนอย่างไม่สามารถหลีก เลี่ยงได้ ไม่ว่าจะในฐานะที่เป็นผู้ผลิต ผู้บริโภค ผู้ส่งออก ผู้นำเข้า ฯลฯ และเป็นเรื่องที่พวกเราทุกคนยังคงต้องให้ความสนใจ ติดตามกันต่อไป
บทความโดย  คุณสันติพจน์  กลับดี
ส่วนอาเซียน สำนักการประชาสัมพันธ์ต่างประเทศ
กรมประชาสัมพันธ์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Disqus Shortname

Comments system