หนังสือพิมพ์ Transport Journal ฉบับที่ 801 ประจำวันที่ 16 - 31 มีนาคม 2559 |
จากนโยบายของรัฐบาลภายใต้การบริหารงานของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ให้ความสำคัญกับการลงทุน และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทยด้วยเม็ดเงินลงทุนมหาศาล ซึ่ง 1 ในเป้าหมาย คือ การลดต้นทุนทางด้านโลจิสติกส์ เพื่อส่งเสริมภาคธุรกิจในทุกๆ ด้าน รวมถึงภาคการขนส่ง ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
ขณะเดียวกัน ภาคของบุคลากรที่จะเข้ามารองรับความต้องการของตลาดในด้านโลจิสติกส์นั้น หลายสถาบันการศึกษามุ่งเน้น และเดินหน้าพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สอดรับกับความเติบโต
ของการคมนาคม โลจิสติกส์ เช่นเดียวกับ สาขาวิศวกรรมการจัดการและโลจิสติกส์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ หรือ มธบ. ที่ได้ขานรับแนวทางดังกล่าว
ล่าสุด ภาควิชาวิศวกรรมการจัดการและโลจิสติกส์ มธบ. ได้เข้าร่วมโครงการ “Back pack to ASEAN” รุ่นที่ 4 ซึ่งจัดโดยสำนักกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ในหัวข้อ Follow the route of East-West Corridors, The New Silk Road of ASEAN: ตามรอย อีสเวสต์ คอลิดอร์ เส้นทางสายไหมใหม่แห่งอาเซียน โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อบูรณาการการท่องเที่ยวให้เข้ากับการเรียนในสาขาวิศวกรรมการจัดการและโลจิสติกส์ เช่น วิชาการขนส่งและกระจายสินค้า, วิชาพิธีการศุลกากร เป็นต้น
นอกจากนี้ เพื่อศึกษาวัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต และความเป็นอยู่ของประชากรประเทศเวียดนาม เพื่อการเตรียมความพร้อมสำหรับการเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เพื่อสร้างเสริมประสบการณ์ใหม่ๆ ในการเดินทางต่างประเทศ และการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า และเพื่อหาช่องทางและแนวทางในการประกอบธุรกิจในอนาคต
โครงการดังกล่าว นำโดย อ.ธนกฤต แก้วนุ้ย ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา และหัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมการจัดการและโลจิสติกส์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ พา 4 นักศึกษาตะลุยประเทศเป้าหมาย คือ ประเทศเวียดนาม เจาะลึกเส้นทาง East-West Corridors ซึ่งเป็นเส้นทางใหม่ในการขนส่ง การเดินทางจาก พม่า-ไทย-ลาว-เวียดนาม เป็นการตัดขวางเชื่อมระหว่างสองมหาสมุทร คือ มหาสมุทรอินเดียทางตะวันตก และมหาสมุทรแปซิฟิกทางตะวันออก
อ.ธนกฤต เปิดเผยกับ “TRANSPORT” ว่า ภาควิชาวิศวกรรมการจัดการและโลจิสติกส์ มธบ. ได้เข้าร่วมโครงการ “Back pack to ASEAN” เป็นครั้งแรก ตอบโจทย์นโยบายของ มธบ. ผู้สนับสนุนงบประมาณค่าใช้จ่ายของโครงการ โดย Back pack to ASEAN เป็นการศึกษาเส้นทางการขนส่ง การค้าในอาเซียน โดยถือเป็นการบูรณาการการศึกษานอกเหนือจากในห้องเรียน ได้สัมผัสกับบรรยากาศตั้งแต่จุดเริ่มต้นของการขนส่งโลจิสติกส์ สะท้อนวิถีชีวิตต่างๆ ทั้งนี้ นักศึกษาที่ได้เข้าร่วมโครงการดังกล่าว ใช้เกณฑ์ในการคัดเลือกจากเกรดเฉลี่ย รวมถึงความสนใจในการร่วมเดินทาง อย่างไรก็ตาม คาดว่า “Back pack to ASEAN” ครั้งที่ 2 จะจัดขึ้นในช่วง ธ.ค. 59-ม.ค. 60 ในเส้นทางไทย-ลาวเหนือ-คุณหมิง (จีน)
“จากการลงพื้นที่ไปยังประเทศเวียดนาม พบว่าการขนส่งระบบรางของเวียดนามดีกว่าเราเยอะ เพราะเขาถูกพัฒนามาจากต่างชาติ เช่น เส้นทางประวัติศาสตร์เวียดนามใต้-เวียดนามเหนือ ขณะที่ในอนาคตประเทศไทยจะเป็นฮับด้านการคมนาคม สิ่งที่ต้องเตรียม คือ ผู้ให้บริการด้านการขนส่ง คลังสินค้า และจุดพักรถ โดยเฉพาะในเส้นทาง R9 ที่มีความสำคัญในด้านโลจิสติกส์ นอกจากนี้ผมมองว่า การขนส่งในระบบราง จะช่วยประหยัดต้นทุน สามารถขนส่งได้ในครั้งละปริมาณมาก ถือว่าดีกว่าการขนส่งในรูปแบบอื่น” อ.ธนกฤต กล่าว
สำหรับเส้นทาง R9 คือ เส้นทางหลัก เริ่มต้นที่ เมืองเมาะละเมิง ประเทศ พม่า-ด่ายชายแดน อ.แม่สอด จ.ตาก-จ.สุโขทัย-จ.พิษณุโลก-จ.เพชรบูรณ์-จ.ขอนแก่น- จ.กาฬสินธุ์- จ.มุกดาหาร - สะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่สอง จังหวัดมุกดาหาร- เมืองสะหวันนะเขต ประเทศลาว-ด่านลาวบ่าว ชายแดนลาวเวียดนาม-เมืองเว้ ประเทศเวียดนาม-เมืองดาดัง ประเทศเวียดนาม เส้นทางสายนี้เรียกว่า East-West Economic Corridor (EWEC) เส้นทางสายใหม่ในการเดินทาง การขนส่ง
ทั้งนี้ เนื่องจากในสมัยก่อนการเดินทางไปฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกต้องอ้อมไปทางแหลมมาลายูประเทศสิงคโปร์ เราจึงเลือกการเดินทางในแบบของ East-West Economic Corridor (EWEC) เพื่อช่วย
ลดระยะทาง เวลา ค่าใช้จ่าย ในการเดินทางครั้งนี้นอกจากการศึกษาเส้นทางโลจิสติกส์แล้ว ยังได้เรียนรู้ด้านวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณี วิถีการดำรงชีวิต และการทำธุรกิจ รวมไปถึงแนวทางในการประกอบธุรกิจในอนาคตอีกด้วย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น