วันเสาร์ที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2559

กสทช.กลืนเลือด “JAS” ทิ้งคลื่น ประมูลคลื่นใหม่ไม่หมูถ้ายังแพง


กรณี แจส โมบาย บรอดแบนด์ ไม่ยอมจ่ายค่าสัมปทานคลื่นความถี่ 900 MHz ในการให้บริการ 4G ซึ่งทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ว่า กสทช. เป็นแค่เสือกระดาษ เพราะหากมองในข้อกฎหมาย กสทช.แทบจะทำอะไรแจสโมบายไม่ได้เนื่องจากในประกาศของ กสทช. เองค่อนข้างหลวม โดยหากพิจารณาจากประกาศของ กสทช. เรื่องการประมูลคลื่น 900 MHz เพื่อให้บริการ 4G ในข้อ 6. วรรคท้ายของประกาศ กสทช. และข้อ 5 วรรค 2 ของแบบ "หนังสือยินยอมของผู้ขอรับใบอนุญาต" แนบท้ายของประกาศ กสทช. ระบุไว้แต่เพียงว่า "ในกรณีที่ผู้ชนะการประมูลไม่ดำเนินการตามเงื่อนไขก่อนรับใบอนุญาตให้ถูกต้องและครบถ้วนภายในระยะเวลาที่กำหนด ให้ถือว่าผู้ชนะการประมูลนั้นสละสิทธิ์ที่จะได้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ตามประกาศ กสทช. และคณะกรรมการสงวนสิทธิ์ที่จะริบหลักประกันการประมูล" และเหตุดังกล่าวนี้ก็ไม่ได้เป็นเหตุเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมอื่นๆ ที่กลุ่มบริษัทได้รับจากสำนักงาน กสทช. และใช้ประกอบกิจการอยู่ในปัจจุบัน รวมทั้งการดำเนินธุรกิจของกลุ่มบริษัทยังสามารถดำเนินการได้โดยไม่ได้รับผลกระทบใดๆ ทั้งสิ้น ซึ่งหากมองในแง่ผลกระทบแต่เอกชนแล้วจะเห็นว่า เงินค่าปรับ 644 ล้านบาท เป็นแค่ 1.27% ของสินทรัพย์ซึ่งเมื่อจัสมิน คอร์ปฯ แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ อย่างเป็นทางการแล้วตลาดหลักทรัพย์ก็ปลดป้าย ห้ามซื้อ-ขาย” (SP) ให้แจสโดยง่ายดาย
เรื่องการนำคลื่น 900MHz กลับมาประมูลใหม่ ซึ่งตามระเบียบ กสทช. จะต้องจัดการเปิดประมูลใหม่ใน 4 เดือนหากผู้ชนะการประมูลสละสิทธิ์ (กรณีแจสโมบายไม่มาจ่ายค่าไลน์เซนต์ คือ สละสิทธิ์โดยอัตโนมัติไม่ใช่การถูกบอกเลิกสัมปทาน) คำถามคือแล้วประมูลใหม่มันจะมีปัญหาอะไร มีปัญหาแน่ๆ โดยเรื่องใหญ่ๆ มี 2 เรื่องที่ กสทช. ติดหล่มตัวเองคือ
1. ไม่ได้ราคาเท่าเดิม เพราะคุณภาพของคลื่น 900 MHz ล็อตแรกที่แจสโมบายได้ไปด้อยกว่าล็อตสอง ที่ทรูประมูลได้ อธิบายง่ายๆ คือ คลื่น 900MHz ทั้ง 2 ล็อตมีความกว้างประมาณ 10 MHz ต่อคลื่น คลื่นล็อตแรกติดปัญหาต้องทำ Guard Band คือเว้นช่องว่างไว้ 2.5 MHz เพื่อกันไม่ให้เกิดการรบกวนจากคลื่นที่อยู่ติดกัน ทำให้ใช้จริงได้แค่ 7.5 MHz ส่วนทรูไม่ติดปัญหานี้ใช้ได้เต็ม 10 MHz ด้วยราคาประมูลที่ 40,000 กว่าล้านบาทเหมือนกัน ทรูกลับได้ประโยชน์มากกว่า ซึ่งนี่เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่นักวิเคราะห์หลายคนมองว่าการประมูลคลื่น 900 MHz ของแจสโมบาย แพงเกินไป และอาจเป็นอีกเหตุผลที่ทำให้ แจสโมบาย กลับลำไม่ทำ 4G ต่อ และยอมเสียค่าปรับดีกว่าต้องลงทุนอีกมากมายในอนาคต
ฉะนั้นจึงเป็นไปได้ยากหากจะเปิดประมูลด้วยราคาเริ่มต้นที่ราคาเดิมคือ 40,000 กว่าล้านบาทในขณะเดียวกัน กสทช. เองก็คงไม่อยากจะเปิดประมูลด้วยราคาที่ต่ำกว่าเดิม ตามหลักการที่จะต้องรักษา กฎการแข่งขันที่เท่าเทียมเพราะกสทช. มีหน้าที่ในการควบคุมต้นทุนของเอกชน หากรายใดรายหนึ่งมีต้นทุนบริการที่ถูกกว่า (ประมูลคลื่นในราคาถูกกว่า) ก็จะมีปัญหาร้องเรียนตามมา รวมทั้งอาจถูกมองว่าเอื้อประโยชน์ต่อรายหนึ่งรายใดได้ และแม้ว่าจะเปิดประมูลใหม่ ก็ไม่แน่ว่า 2 รายที่ อกหักไปอย่าง เอไอเอส กับดีแทค จะเข้าร่วมประมูลหากราคายังแพงเกินไป ส่วนทรู อาจไม่เข้าร่วมเพราะมีคลื่นมากพออยู่แล้ว

2. ดองคลื่นไว้ก็จบไม่สวย กรณีที่การประมูลไม่มีใครสนใจเข้าร่วม กสทช.สามารถเก็บคลื่นนี้ ไว้ได้ 1 ปี แล้วจึงนำกลับมาประมูลใหม่ได้ หากมองเผินๆ นี่เป็นทางออกที่ดีที่สุดในการซื้อเวลาของ กสทช. แต่อย่าลืมข้อเท็จจริงที่ว่า กสทช.ชุดนี้เหลืออายุแค่ปีกว่า หากไม่สามารถเปิดประมูลคลื่น 900 MHz รอบใหม่ได้ เรียกว่าหมดสิทธิ์ แก้ตัวในความล้มเหลวคราวนี้ และท่านก็จะเดินลงจากตำแหน่งแบบมีข้อกังขา ว่า ลอยตัว หนีปัญหา หรือเปล่า

Disqus Shortname

Comments system