วันพฤหัสบดีที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2559

สกู๊ปพิเศษ เกิดปมยกเลิก ARL7 ขบวน ส่อเสียค่าโง่ 4,400 ล้านบาท

หนังสือพิมพ์ ทรานสปอร์ต เจอร์นัล ประจำวันที่ 1 - 15 มิถุนายน 2559
เกิดอีก 1 ปมปัญหาในวงการคมนาคม ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อรถไฟแอร์พอร์ตลิ้งค์ (ARL) 7 ขบวน มูลค่า 4,400 ล้านบาท ของการรถไฟแห่งประเทศไทย หรือ รฟท. เพื่อนำไปให้บริการเดินรถในเส้นทางแอร์พอร์ตลิ้งค์ โดยกลุ่มกิจการร่วมค้า ซีซีอาร์ได้รับคัดเลือกเป็นผู้มีสิทธิ์เสนอราคาเนื่องจากมีคุณสมบัติครบถ้วนข้อเสนอทางเทคนิคมีความเหมาะสม


แต่เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2559 ที่ผ่านมา กิจการร่วมค้าซีซีอาร์ ได้รับแจ้งยกเลิกการจัดซื้อโครงการดังกล่าว ซึ่งคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ หรือ คตร. ได้มีมติให้ รฟท.ประกาศยกเลิกการประกวดราคาโครงการจัดซื้อรถไฟฟ้าธรรมดา (City Line) จำนวน 7 ขบวน ขบวนละ 4 ตู้ จากประเด็นดังกล่าว ย้อนไปเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2558 ที่ผ่านมา กิจการร่วมค้าซีซีอาร์ได้รับหนังสือแจ้งตกลงซื้อรถไฟแอร์พอร์ตลิ้งค์ 7 ขบวนจาก รฟท.

โดยในข้อตกลงดังกล่าวที่กิจการร่วมค้าซีซีอาร์ ถือเป็นผู้ดำเนินการ จึงได้ติดต่อกับโรงงานผลิตรถไฟฟ้า 7 ขบวน คือโรงงาน Changchun Railway Vehicles ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนได้รับทราบ และได้รับแจ้งจากโรงงานผลิตว่าได้ดำเนินการในขั้นตอนผลิตและจัดหาอุปกรณ์ส่วนประกอบต่างๆ ที่ส่วนใหญ่เป็นอุปกรณ์สำคัญต้องใช้เวลานานในการสั่งผลิต และเป็นผลิตภัณฑ์ที่ต้องสั่งซื้อจากประเทศยุโรปไว้เป็นการล่วงหน้าแล้ว ฉะนั้นการแจ้งยกเลิกจาก รฟท. จึงอาจผลเสียหาย และส่อเสียค่าโง่ 4,400 ล้านบาท

ในประเด็นนี้ แหล่งข่าวจากกิจการร่วมค้าซีซีอาร์ ออกมาระบุว่า บริษัทได้ทำหนังสือถึง นายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร ผู้ว่า รฟท.ขอเร่งรัดนัดหมายทำสัญญาซื้อขายรถไฟฟ้าธรรมดา 7 ขบวน ซึ่งบริษัทขอยืนยันว่าได้ปฏิบัติตามทีโออาร์ที่กำหนดไว้ทุกประการ ที่สำคัญ ร.ฟ.ท.ได้มีหนังสือแจ้งตกลงซื้อมายังบริษัท นอกจากนั้นกิจการร่วมค้าซีซีอาร์ยังได้ขยายระยะเวลาการยืนราคาไปจนถึงวันที่ 4 กรกฎาคม 2559 จึงถือว่ายังได้รับการคุ้มครองการยืนราคาไปจนถึงวันดังกล่าว“ทางกลุ่มกิจการร่วมค้า ซีซีอาร์ ยืนยันได้ดำเนินตามขั้นตอนและข้อกำหนดของการรถไฟฯ ครบทุกประการ และไม่ได้มีการล็อกสเปคอย่างที่มีการ กล่าวอ้างแต่อย่างใด และหลังจากกลุ่มกิจการร่วมค้า ซีซีอาร์ ได้รับหนังสือแจ้งตกลงซื้อจากการรถไฟฯ ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2558 ก็ได้ติดต่อกับโรงงานผลิตรถไฟฟ้า 7 ขบวน คือ โรงงาน Changchun Railway Vehicles ประเทศจีน ได้รับทราบ และได้รับแจ้งจากโรงงานผลิตว่าได้ดำเนินการในขั้นตอนผลิตและจัดหาอุปกรณ์ส่วนประกอบต่างๆ ที่ส่วนใหญ่เป็นอุปกรณ์สำคัญต้องใช้เวลานานในการสั่งผลิต และเป็นผลิตภัณฑ์ที่ต้องสั่งซื้อจากประเทศยุโรปไว้เป็นการล่วงหน้าแล้ว ซึ่งส่งผลกระทบหนักต่อ ซีซีอาร์ เป็นอย่างมาก”

ขณะที่ นายสราวุธ เบญจกุล ประธานคณะกรรมการ หรือ บอร์ด รฟท. กล่าวว่า กรณีแจ้งยกเลิกการจัดซื้อ 7 ขบวนรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิ้งค์นั้น เป็นไปตามที่ พล.อ.ดรัณ ยุทธวงษ์สุข รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด หรือ รฟฟท.ได้แจ้งข้อมูลเกี่ยวกับระบบอาณัติสัญญาณการเดินรถของการเดินรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิ้งค์ว่า ระบบอาณัติสัญญาณในปัจจุบันมีความถี่ในการเดินรถที่ 8 นาทีต่อขบวน เมื่อได้รับขบวนรถไฟฟ้าใหม่ 7 ขบวนแล้วก็ไม่สามารถปรับปรุงให้มีความถี่ในการเดินรถต่ำกว่านี้ได้ เนื่องจากมีขบวนรถรวมทั้งสิ้นเกินกว่าที่ระบบอาณัติ สัญญาณและการเดินรถจะรองรับได้ อีกทั้งปัจจุบันถึงกำหนดต้องปรับปรุงระบบและทำการซ่อมบำรุงจึงเห็นสมควรปรับปรุงระบบให้เป็นระบบเปิดเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการจัดซื้อ

พร้อมกันนี้ บอร์ด รฟท. ยังมีความเห็นให้ รฟท.ดำเนินการปรับปรุงรถไฟฟ้าด่วนจำนวน 4 ขบวนที่มีอยู่ (12 ตู้) ให้เป็นตู้โดยสารแบบรถไฟฟ้าธรรมดา เพื่อให้รองรับผู้โดยสารได้มากขึ้น เร่งรัดการทำสัญญาจ้างการซ่อมบำรุงใหญ่ (Overhaul) และให้ รฟฟท.ทยอยส่งขบวนรถเข้าซ่อมบำรุงใหญ่โดยต้องไม่กระทบต่อกรณีให้บริการประชาชน ให้ รฟฟท.ศึกษาระบบอาณัติสัญญาณให้มีความชัดเจนด้วยความรอบคอบ และดำเนินการปรับปรุงให้เป็นระบบเปิดที่ทันสมัยเพื่อรองรับการเดินรถในอนาคต และให้ รฟท.ดำเนินการจัดซื้อรถไฟฟ้าธรรมดาที่รองรับระบบอาณัติสัญญาณที่ปรับปรุงใหม่โดยให้ดำเนินการคู่ขนานกับการปรับปรุงระบบอาณัติสัญญาณของ รฟฟท.

ขณะที่ แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม ระบุว่า ตามที่การรถไฟฯได้ประกาศยกเลิกการประกวดราคาซื้อขายรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต ลิงค์ 7 ขบวน โดยอ้างว่ามีความจำเป็นต้องทบทวนเกี่ยวกับระบบอาณัติสัญญาณการเดินรถไฟฟ้า Airport Rail Link เพื่อศึกษาความเหมาะสมในการปรับปรุงให้เป็นระบบเปิดที่ทันสมัย รองรับการเดินรถในอนาคตตามความเห็นของบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด หรือ รฟฟท. ซึ่งได้สร้างความกังขาให้กับกิจการร่วมค้า ซีซีอาร์ เป็นอย่างมาก

“ทั้งมองว่าไม่ถูกต้องและไม่เป็นธรรมกับกิจการร่วมค้า ซีซีอาร์ ในฐานะผู้ชนะการประกวดราคาซื้อด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ด้วยกระบวนการประกวดราคาเป็นไปโดยราคาถูกต้องโปร่งใสทุกขั้นตอน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ ทีโออาร์ และ สเปค ตามที่ รฟฟท.ได้กำหนดไว้ทุกข้อ อีกทั้งทุกกระบวนการยังได้ผ่านการพิจารณาตรวจสอบและกลั่นกรองเห็นชอบจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นการถไฟฯ คณะกรรมการรถไฟฯ รฟฟท. สนข. สนย. และสปค. สศธ. กระทรวงคมนาคม และการรถไฟฯได้ดำเนินการจัดซื้อตามระเบียบการพัสดุจนเสร็จสิ้นตามขั้นตอนแล้ว” แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม กล่าว
ทั้งนี้ ผู้เสนอราคาจะต้องปรับปรุงระบบอาณัติสัญญาณให้เป็นไปตาม

ทีโออาร์ และ สเปค แต่เมื่อการรถไฟฯใช้เป็นข้ออ้างที่ยกเลิกนั้น เพราะจำเป็นต้องทบทวนเกี่ยวกับระบบอาณัติสัญญาณการเดินรถไฟฟ้า Airport Rail Link เพื่อศึกษาความเหมาะสมในการปรับปรุงให้เป็นระบบเปิดที่ทันสมัย รองรับการเดินรถในอนาคต จึงเป็นการขัดแย้งกับ ทีโออาร์ และ สเปค ที่ รฟฟท.กำหนดไว้ในประกาศประกวดราคาเลขที่ บฟ.อ/๕๘๐๐๑๓ จึงไม่เป็นธรรมแก่กิจการร่วมค้า ซีซีอาร์ อีกด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Disqus Shortname

Comments system