วันจันทร์ที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2559

สกู๊ปพิเศษ e-Commerce ไทยแข่งเดือด จับตา LAZADA ตัวแทน Alibaba


หนังสือพิมพ์ ทรานสปอร์ต เจอร์นัล / สกู๊ป
ประจำวันที่ 16 - 31 พฤษภาคม 2559

หลังประเทศไทยเข้าสู่ยุค 4G ธุรกิจหลายด้านก็เริ่มเข้าสู่ยุคของไอทีมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการซื้อขายออนไลน์หรือ e-Commerce ซึ่งมีอัตราการเติบโตสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้จากการที่ธนาคารเริ่มเข้าสู่ระบบออนไลน์ การใช้จ่ายบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิตผ่านระบบออนไลน์ จึงมีผลอย่างยิ่งที่ทำให้ e-Commerce ในประเทศไทยเติบโตขึ้นอย่างมาก ส่งผลให้ตลาด e-Commerce ในประเทศไทยเป็นที่น่าจับตามอง



การซื้อขายผ่านรูปแบบ e-Commerce แต่เดิมจะใช้คอมพิวเตอร์เป็นหลักในการออนไลน์ แต่ในยุคที่เทคโนโลยี 4G เข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวัน การซื้อขายในรูปแบบ
e-Commerce จึงเปลี่ยนมาใช้โทรศัพท์มือถือเป็นหลักในการออนไลน์ ซึ่งทำให้ธุรกิจ e-Commerce เปลี่ยนรูปแบบมาสู่ m-Commerce

แน่นอนว่าเทคโนโลยีดังกล่าวส่งผลให้การซื้อขายออนไลน์สะดวกมากยิ่งขึ้น อีกทั้งธนาคารยังสนับสนุนให้มีการซื้อขายออนไลน์ผ่านบัตรเครดิตและบัตรเดบิต ยิ่งส่งผลให้ตลาดซื้อขายออนไลน์ในประเทศไทยเติบโตมากยิ่งขึ้น และเป็นที่น่าจับตามองอย่างสูงจากนักลงทุนด้านธุรกิจ
e-Commerce ในต่างประเทศ นั่นจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ธุรกิจ e-Commerce ในประเทศไทยแข่งขันอย่างรุนแรง

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเข้าช้อนซื้อหุ้นของ LAZADA โดยยักษ์ใหญ่ในธุรกิจ e-Commerce จากประเทศจีนอย่าง Alibaba โดยเป็นการใช้เม็ดเงินเข้าซื้อหุ้นจำนวน 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยแบ่งออกเป็นการเข้าซื้อหุ้นจากผู้ถือหุ้นรายเดิม 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเป็นการเข้าซื้อหุ้นเพิ่มอีก 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจะทำให้ Alibaba เป็นเจ้าของ LAZADA ที่ดำเนินกิจการอยู่ ซึ่ง LAZADA เข้าไปดำเนินการทั้งสิ้น 6 ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์, สิงคโปร์, เวียดนามและไทย

การเข้าซื้อหุ้นในครั้งนี้จะทำให้ Alibaba มีฐานธุรกิจ e-Commerce นอกประเทศจีน โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีแนวโน้มการเติบโตของธุรกิจ e-Commerce
สูงขึ้น ทั้งนี้ Alibaba ยังจะต้องเจอคู่แข่งที่สำคัญซึ่งเป็นผู้นำธุรกิจ e-Commerce ของแต่ละประเทศที่ Alibaba จะเข้าไปเปิดตลาด ยกตัวอย่างเช่นประเทศไทย ที่ Alibaba จะต้องแข่งขันกับ Tarad.com เป็นต้น อย่างไรก็ตาม Alibaba จะยังคงใช้ชื่อ LAZADA ในการดำเนินธุรกิจ e-Commerce ของประเทศเหล่านั้น

ล่าสุด LAZADA ได้เปิดตัวศูนย์เทคโนโลยี (Tech Hub) ในกรุงเทพฯ เพื่อให้ประเทศไทยเตรียมพร้อมผลักดันการพัฒนา m-Commerce อย่างมียุทธศาสตร์ โดยศูนย์เทคโนโลยี LAZADA ประจำประเทศไทยนั้น จะมุ่งเน้นการดีไซน์ที่ล้ำสมัย ซึ่งจากข้อมูลของ LAZADA พบว่า มูลค่าการขายสินค้ากว่า 60% ของ LAZADA มาจากการซื้อขายผ่านมือถือทั้งสิ้น LAZADA จึงได้ตัดสินใจลงทุนด้าน m-Commerce ผ่านการริเริ่มพัฒนาการแอพพลิเคชั่นใหม่ๆ และปรับปรุงเว็บไซต์เพื่อให้ง่ายต่อการใช้งานบนมือถือมากยิ่งขึ้น

ขณะที่ยักษ์ใหญ่ e-Commerce อย่าง Rakuten เตรียมปิดธุรกิจ e-Commerce ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมองศักยภาพ e-Commerce ของญี่ปุ่นและไต้หวันมีการเติบโตสูงกว่า ทั้งนี้ Rakuten ได้เข้าซื้อหุ้น 67% จาก Tarad.com ในปี 2552 ด้วยจำนวนเงินกว่า 300 ล้านเยนหรือประมาณ 112 ล้านบาท ซึ่งแผนการปิดธุรกิจในครั้งนี้ส่งผลให้นายภาวุธ พงษ์วิทยภานุ ผู้ก่อตั้ง Tarad.com แต่เริ่มแรก เข้าซื้อกิจการกลับขึ้นมาบริหารเอง

ตลาด e-Commerce ของประเทศไทยต่อไปในอนาคต จะเป็นการแข่งขันของผู้ให้บริการคนไทย และผู้ให้บริการชาวต่างชาติ โดยจะแข่งกันในเรื่องของความง่ายในการซื้อขาย ความรวดเร็วในการส่งสินค้าและความถูกต้องของสินค้า รวมไปถึงการรับประกันหลังการขาย ซึ่งต้องยอมรับว่า Alibaba มีความเชี่ยวชาญในด้านนี้ค่อนข้างสูง เนื่องจากภูมิประเทศของจีนที่มีความหลากหลาย ทั้งภูเขาสูง แม่น้ำใหญ่และความกันดาร รวมถึงระยะทางที่กว้างไกล ซึ่งทำให้ Alibaba ประสบปัญหาเรื่องการขนส่งมากเมื่อเทียบกับประเทศไทย

โดยปัจจุบัน Alibaba สามารถแก้ปัญหาการขนส่งได้ค่อนข้างดีมาก นั่นเองจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ให้บริการ e-Commerce ของคนไทยจำเป็นต้องมีการปรับตัวอย่างสูง เมื่อ Alibaba เข้ามาทำตลาดในเมืองไทยนั่นหมายความว่า ธุรกิจ e-Commerce กำลังจะถูกชาวต่างชาติยึดครอง






ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Disqus Shortname

Comments system